Tuesday, August 29, 2006

OpenOffice.org Uninstallation

จั่วหัวซะน่ากลัว แต่จริงๆ ก็ไม่มีอะไรมาก แค่คิดว่าทำไมตัว OpenOffice.org สำหรับ Linux ซึ่งมาเป็นชุด rpm ชุดใหญ่ มันดันไม่มีเครื่องมือสำหรับติดตั้งและยกเลิกการติดตั้งติดมาให้ด้วย

จริงๆ แค่คิดจะติดตั้งก็ยากแล้วสำหรับบางคน เค้าคงคิดว่าคนใช้ Linux ก็ต้อง Geek ระดับนึงละมั้งซึ่งที่จริง มันไม่ใช่แบบนั้น ผมเองยังงมหาวิธีติดตั้งนานพอดู (เพราะไม่รู้ว่า rpm มันใช้ wild card ได้ด้วย) สำหรับการติดตั้งโปรแกรมก็เคยเขียนไว้ทีนึงแล้วที่นี่ ก็แค่สั่ง rpm -Uvh *.rpm ในไดเร็คทอรีที่เก็บชุดโปรแกรมเอาไว้ก็แค่นั้นตัว rpm จะจัดการติดตั้งให้ตามลำดับเรียบร้อยไม่ต้องห่วงเรื่อง dependencies

ทีนี้ บางคนอาจจะรู้สึกว่า OO.o ไม่ค่อยเหมาะกับเราแฮะ หรืออาจจะอยากใช้ KOffice หรือ Abiword/GNOME Office แทน แล้วก็อยากจะลบ OO.o ทิ้ง ทีนี้ทำไงดี (จะมีไหมเนี่ย ผมว่า OO.o เป็นชุดออฟฟิศที่เหมาะกับคนไทยมากที่สุดแล้วหละ) เก็บเอาไว้ก็เปลืองฮาร์ดดิสก์ ก็เป็นที่มาที่อยากจะเขียนตัว uninstall ซะเลย ทีแรกก็เขียนเป็น text mode ก่อน ต่อมาก็ซนอยากเขียนให้มันมี GUI มั่งก็เลยใช้ประกอบกับ Kdialog

หลักการทำงานก็ไม่มีอะไรมาก ก่อนอื่นหามาให้ได้ก่อนว่า packages ที่ทำการติดตั้งลงไปเนี่ยมันมีอะไรบ่้าง แบบนี้

rpm -qa |grep openoffice


ซึ่งมันจะ return ค่าออกมาแบบ

openoffice.org-[package]-[version]


เป็นจำนวนมากคิดว่าได้ทั้งหมด 26 packages หลังจากนั้นก็ตัดส่วนที่แสดงเวอร์ชันออกแล้วเก็บทั้งหมดลงไฟล์ชั่วคราวแล้วใช้ for loop เพื่อทำการ uninstall ด้วยคำสั่ง


for package in `cat $tmpfile`
do
rpm -e --nodeps $package
done


เสร็จแล้วก็ปรับแต่งเปลี่ยนแปลงหน้าตานิดๆ หน่อยๆ เพื่อให้ดูดี เช่นมีไดอะล็อก มี progress bar เป็นต้น (มันใช้ง่ายอยู่แล้วแหละ แค่ตอบว่าแน่ใจว่าจะลบออก ก็เท่านั้น)

ข้อเสียจากการใช้สคริปต์นี้คือ มันช้าโคตร เพราะว่าใช้ rpm -qa ทำการหา packages หลายรอบ ยังหาวิธีการจัดการกับ rpm package ที่ดีกว่านี้ไม่ได้ แถมพอใช้ร่วมกับ Kdialog ก็ทำให้ผู้ที่สามารถ run script นี้ได้เต็มรูปแบบก็มีแต่ root อีก (คือต้อง login เป็น root เพราะ su จะมีปัญหาเวลาเรียกใช้งานโปรแกรมที่เป็น X นอกจากจะ export display ออกไปให้คำสั่ง su สามารถใช้ display ได้ด้วย แต่ตามค่าปริยายแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ) ใช้ kdesu ก็ไม่ได้ สคริปต์มันไม่ทำงานต่อ ถ้าใครจะปรับปรุงสคริปต์นี้มห้มันดีขึ้นก็ได้นะ ไม่ว่ากัน และขอขอบคุณด้วย

ลองดูสคริปต์ได้ ที่นี่ ครับ

Saturday, August 26, 2006

ศพ

ว่าจะไม่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วนะเนี่ย แต่มันดันกลายเป็นหัวข้อมาถกกันในเว็บบอร์ดที่ผมเข้าประจำบอร์ดนึง ก็เลยอดไม่ได้ ต้องมาเขียนซักหน่อย

=คำเตือน= ข้อความในบล็อกตอนนี้ เป็นความคิดเห็นของผมเท่านั้น และผมคิดว่าผมมีสิทธิ์ที่จะออกความคิดเห็นแบบนั้น หากว่าคุณอ่านแล้วรู้สึกขัดใจ ขัดตา คุณมีทางเลือกที่จะ อภิปรายกับผมด้วยเหตุผล หรือไม่ก็ออกไปซะ (มี Link ไปที่อื่นๆ อยู่ข้างๆ)

ศพ หรือชื่อเรื่องเดิมว่า อาจารย์ใหญ่ เป็นภาพยนตร์ของสหมงคลฟิล์ม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอาจารย์ใหญ่ หรือก็คือผู้ที่สละร่างตนเองมาให้นักศึกษาในวงการสาธารณสุขได้เรียนรู้เกี่ยวกับกายวิภาคของมนุษย์ และดันเอาไปเกี่ยวโยงกับเรื่องวิญญาณแค้น ความลึกลับต่างๆ มากมาย ซึ่งโดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าไม่ได้เป็นการให้เกียรติท่านผู้เสียสละเหล่านั้นเลย เหมือนเอาชื่อมาใช้หากิน

ขั้นตอนที่จะมาเป็นอาจารย์ใหญ่นั้นก็ไม่ได้ง่ายๆ เริ่มจากเจ้าตัวที่ทำการบริจาคแล้ว ทางญาติก็ต้องยินยอมด้วย (ตามกฎหมาย ศพถือเป็นทรัพย์ของญาติ ซึ่งหากไม่ได้รับการยินยอมในส่วนนี้ก็ไม่สามารถเป็นอาจารย์ใหญ่ได้) นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกอื่นๆ เช่น ศพอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย ฆาตกรรม ก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นอาจารย์ใหญ่ได้ แล้วเรื่องการตรวจสอบศพที่จะมาเป็นอาจารย์ใหญ่ก็ไม่ใช่เป็นแบบลวกๆ ดังนั้นเรื่องของการซ่อนศพเข้ามาแล้วกลายเป็นวิญญาณแค้นก็เป็นการดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในส่วนนี้อีกด้วย

จริงๆ แล้วอาจารย์ใหญ่เป็นผู้มีพระคุณกับใครบ้าง? หลายคนอาจสงสัย ผมขอตอบไว้ตรงนี้ว่า หากว่าคุณเป็นผู้ที่ ใช้บริการทางการแพทย์ก็ต้องถือว่าอาจารย์ใหญ่ก็เป็นผู้มีพระคุณของคุณด้วยเช่นกัน เพราะอาจารย์ใหญ่ถือเป็นผู้เสียสละและจำเป็นในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพื่อมาบริการหรือรักษาพวกคุณนั่นแหละ

โดยส่วนตัว (อีกแล้ว) เห็นว่า การสร้างหนังหรือสื่อต่างๆ ออกมาแล้วกระทบกับความเชื่อ หรือสถาบันต่างๆ นี่ดูท่าทางจะเป็นของชอบของสื่อนะ ทั้งศาสนา ทั้งวงการแพทย์ ต่อไปก็คง ตำรวจ ทหาร รัฐบาล (ถ้ากล้าทำอันนี้นี่จะดีใจมาก) เพราะว่ามัน ขายได้ ส่วนผลกระทบต่อสังคม หรือความเชื่อหรือว่าประชาชนอื่นๆ นั้นเอาไว้ทีหลัง ถ้าหากว่ามีแรง ก็ถือเป็นการโปรโมตไปในตัวแล้วก็ทำการแก้ไขไปทีหลังตามนั้น

หลายคนก็ออกมาบอกว่า "เฮ้ย นี่แค่หนัง คิดอะไรมากวะ แยกไม่ออกหรือไง รำคาญพวกประท้วงว่ะ" หรือ "ตอนก่อนสร้าง ตอนบวงสรวงเริ่มถ่ายทำ ทำไมไม่ออกมาตั้งแต่แรกเล่า เสร็จแล้วค่อยออกมา" เอาละ ผมคนนึงหละที่ไม่เชื่อว่า คนที่ออกมาประท้วงนั้นจะไม่มีวิจารณญาณจนกระทั่งแยกไม่ออกว่าเป็นหนัง หรือว่าเรื่องจริง แต่ การไปกระทบกับความเชื่อ หรือการสร้างความเข้าใจผิดให้คนอื่นต่อสิ่งที่คนกลุ่มนี้ รวมทั้งผมด้วย นับถือเนี่ย ก็ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผม หรือของคนกลุ่มนี้ด้วยเหมือนกัน ตามรัฐธรรมนูญ และผมคิดว่ามีสิทธิ์ที่จะประท้วงเพื่อทำการรักษาสิทธิ์อันพึงมีด้วยเช่นกัน ลองคิดในมุมกลับกันถ้าหากว่าเกิดมีการสร้างหนังที่สร้างความเข้าใจผิดต่อคนอื่นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณนับถือแบบมากๆ (ไม่ต้องดูไกล ดูรายการหลุม... ที่สร้างความเข้าใจผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเป็นไง) คุณอยากจะนั่งดูเฉยๆ ไม่คิดมาก นี่หนัง หรือว่าคุณอยากจะลุกขึ้นมาประท้วงแก้ไขความเข้าใจผิด

ส่วนเรื่องในการผลิตนั้น ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ที่จะต้องหาข้อมูล หรือหาที่ปรึกษา มันเป็นหน้าที่ของพวกผม พวกบุคลากรทางการแพทย์เหรอที่จะต้องรี่เสนอตัวเข้าไปรับรู้ว่า ตอนนี้กำลังบวงสรวงเปิดกล้องเรื่องนี้อยู่นะ เรื่องมันเป็นแบบนี้นะ มันไม่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่ทั้งนักศึกษาแพทย์วันๆ เรียนก็ตั้งแต่ 8 โมงเช้ายัน 5 โมงเย็น อยู่เวรต่างหาก เขียนรายงานผู้ป่วย อ่านหนังสือเตรียมสอบ แค่นี้หัวก็หมุนตายแล้ว แล้วแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่วันๆ ต้องบริการคนไข้เป็นร้อยๆ นี่เขาจะต้องมาคอยติดตามหรือว่า คุณจะถ่ายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วต้องรีบเสนอตัวเข้าไปเป็นที่ปรึกษา

ดังนั้น ผมถือว่ามันเป็น "การบ้าน" ที่ทางผู้ผลิตควรจะต้องนึกถึง และหา "ที่ปรึกษา" มาเพื่อลด impact กับความเชื่อของบุคคลกลุ่มบุคคลลงให้น้อยที่สุด จุดประสงค์ของภาพยนตร์คือความบันเทิง แต่มาแบบนี้บันเทิงไม่ออกว่ะ เป็นไงล่ะ เสียประโยชน์กันทุกฝ่าย ฝ่ายสร้างก็ต้องเสียเวลาตัดต่อแก้ไข โปรโมตชื่อใหม่ ฝ่ายประท้วงก็เสียชื่อ ถูกด่าอีกว่าไม่มีอะไรทำเหรอ (ทั้งๆ ที่ถ้าไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นก็เอาเวลาไปอ่านหนังสือสอบดีกว่า) ฝ่ายคนดูก็อารมณ์เสีย เหมือนได้อะไรไม่ครบ แถมหลายคนก็บอกว่าเป็นแบบนี้หนังไทยก็ไม่เจริญ ผมว่าคงมีซักทางที่ไม่ต้องมาเล่นกับเรื่องความเชื่อหรือสร้างอะไรที่มันดู Controversy แล้วสามารถทำให้วงการเจริญได้ ลองทำหนังเกี่ยวกับวงการของตัวเองดูสิ อีกอย่างก็คือ ถึงแม้จะมีที่ปรึกษาที่เหมาะสมเข้าไป ผมเชื่อว่า สิ่งที่ออกมามันก็ยังขึ้นอยู่กับทางผุ้ผลิตและสปอนเซอร์เป็นหลัก ซึ่งไม่สามารถรับประกันได้ว่า สิ่งที่ที่ปรึกษาบอกไปจะถูกนำมาแก้ไข

คนไทยไม่เหมือนฝรั่งแน่ๆ สังคมไทยมันมีอะไรที่ลึกกว่านั้น ฝรั่งอาจจะสร้างหนังที่ดูหมิ่นรัฐบาลประธานาธิบดี หรือแม้แต่กษัตรย์หรือราชินีในประเทศตัวเองได้โดยไม่รู้สึกอะไร แล้วคนดูก็ชอบซะด้วย แต่คนไทยมันไม่ใช่แบบนั้นการเข้าไปลบหลู่หรือว่าสร้างความแตกแยกให้กับความเชื่อ (อย่างแรงกล้า) ของคนไทยกลุ่มใดกลุ่มนึงเข้า มันต้องมีปัญหาแน่ๆ

หวังว่าเรื่องนี้คงเป็นบทเรียนให้ทีมที่อยากจะสร้างภาพยนตร์ หรือความบันเทิงอะไรขึ้นมาซักเรื่องนึงเก็บไปคิดได้ว่า ควรทำอย่างไรต่อไป รวมทั้งวงการต่างๆ ให้คอยเฝ้าดูวงการภาพยนตร์อย่างใกล้ชิด ถ้ามีอะไรไ่ชอบมาพากล จงรีบประท้วงก่อนการสร้าง ว่าควรเปลี่ยนโครงหรือบทหรืออะไรก็ว่ากันไป ไม่งั้นก็โดนด่าอีก

Thursday, August 24, 2006

เศร้า รอบ 2 T_T

ผล Clinical assessment มาแล้วประกาศ 9 โมงเช้าวันนี้ทางเว็บของ AMC


"Unsuccessful Candidate"


เซ็งว่ะ... เศร้าว่ะ... T_T

จริงๆ ก็พอรู้ตัวอยู่ว่า ตอนสอบนี่บริหารเวลาได้เฮงซวยมาก พูดติดขัด มีอาการนึกไม่ออกเงียบเยอะ ทำตาม task ไม่ทันภายในเวลา 8 นาที ทีแรกก็กะประมาณอาจจะพอ resit ได้ แต่นี่แบบ ไม่ผ่านเลย...

เอาเหอะ ถือเป็นการลองสนาม (ตอนสอบ MCQ รอบแรกก็ยังเงี้ย) แต่ค่าลองสนามแพงไปหน่อย AU$2,510 แน่ะ (เกือบ 75,000) คราวหน้าเอาใหม่ ตอนนี้ต้องเตรียมสอบภาษาอังกฤษอีกรอบ (OET) แล้วก็ออกหางานทำเก็บเงินไปสอบก่อนล่ะ หวังว่าคงได้งานซักที่นึงนะ (เป็น HMO)

คราวหน้า ไม่เป็นงี้แน่...

สู้ว้อย!!!

Friday, August 18, 2006

พรุ่งนี้สอบอีกแล้ว T_T

พรุ่งนี้สอบภาคปฏิบัติ (Clinical skill test) หลังจากสอบผ่านภาคทฤษฎี (MCQ) มาแล้วเมื่อ ~5 เดือนก่อน มันก็ไม่แปลกที่ยังไงๆ ก็รู้สึกไม่พร้อมซักที ตื่นเต้นจริงๆ คนรอบข้างก็ว่า "น่าจะผ่านนะ" กันทุกคน หวังว่าคงจะผ่านอย่างที่คิดกันจริงๆ นะหึหึ ตอนเข้าเรียน course เขาก็บอกว่า "Knowledge 30%, tricks 70%!!!"

ใจเย็น ใจเย็น ใจเย็น...


อ๊ากกกกกกกกกกกกกก!!!!!!!!!!

Friday, August 11, 2006

How important is the UI?

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ คงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นไปกว่างาน WWDC '06 ซึ่งมีทั้งการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง Mac Pro และการเปิดเผย features บางประการของ Mac OS X 10.5 หรือ Leopard แล้วก็แน่นอนว่าหลังจากที่หลายๆ คนได้ดู Keynote ของป๋า Jobs ไปแล้วก็มีอาการหมั่นไส้ไปตามๆ กัน เรื่องลอกหรือไม่ลอก โดยเหตุผลหลักๆ ก็คือป๋ากัดเค้า (ที่คุณก็รู้ว่าใคร) ซะจนเหวอะไปหมด แต่พอมาคิดดูจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ต่างไปจากคนที่ป๋ากัดซักเท่าไหร่ หลายๆ features ที่บอกออกมาว่าใหม่หรือว่า innovative นั้น เอาเข้าจริงมันเป็นหลักการหรือความคิดที่มีคนทำกันมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น Spaces ที่มีมานานมากแล้วใน X11 (Virtual desktop ใน KDE ที่ผมใช้อยู่รวมกับ Kompose ทำได้เหมือนกับใน Mac ทุกประการ) หรือ Time Machine โดยหลักการก็เหมือนๆ กับโปรแกรมอย่าง OpenVMS หรือแม้แต่ Volume Shadow Copy ของไมโครซอฟต์เอง เพียงแต่เอามาทำเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ เสริมเติมแต่งส่วนติดต่อกับผู้ใช้เพื่อให้ดูดีและใช้ง่าย แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มันคงไม่ถูกใจ Geek ผู้ซึ่งมีประสบการณ์การใช้งานในระดับที่อย่างน้อยๆ ก็ทำงานกับ CLI มานานรวมทั้งเขียน script หรือเขียนโปรแกรมเป็น แต่มันคงเป็นอะไรที่แปลกใหม่รวมทั้งมี usability สูงสำหรับผู้ใช้หน้าใหม่ หรือแม้แต่คนที่ใช้งานมานานแต่ไม่มีความรู้เรื่องระบบเลย...

ทีนี้มาว่ากันเรื่อง User Interface ตามความหมายก็คือส่วนติดต่อระหว่างผู้ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ และเป็นความจริงที่ว่าคนที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกคนในปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นนักคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ จึงควรที่จะต้องคำนึงถึงการใช้งานของคนปกติ ไม่ใช่นักคอมพิวเตอร์

ผมเองเคยเจอการใช้งานหลายๆ โปรแกรมที่การออกแบบการติดต่อกับผู้ใช้นั้น ไม่สามารถสร้างความเข้าใจและความสะดวกในการใช้งานได้เลย ยกตัวอย่างเช่น ชุดโปรแกรม Office ทั้งหลาย ที่เล่นเอา features สำหรับอำนวยความสะดวกไปซ่อนซะลึกเชียว แถมมีปุ่มไอคอนและแถบเครื่องมือเต็มหน้าจอไปหมดจนเลือกไม่ถูก -_-' (มันถึงต้องปรับปรุง interface ในรุ่น 2007 ไง แค่นี้ก็คุ้มแล้ว ไม่ต้องเพิ่ม features อีกหรอก) หรือการใช้งานโปรแกรมเฉพาะทางหลายๆ โปรแกรม ตัวอย่างเช่น ที่ทำงานของ Boss จะมีโปรแกรมสำหรับทำ Image processing อยู่เพื่อทำการวิเคราะห์จำนวนเซลล์ หรือสารต่างๆ ภายในเซลล์ที่ได้ทำการย้อมสีพิเศษเอาไว้ ตัวโปรแกรมนั้นใช้ยากเป็นบ้า ไอคอนไม่ได้สื่อความหมายอะไรเลย แถมยังมีการปรับค่าต่างๆ ที่ไม่รู้ว่าคืออะไรอีกบาน เสียเวลาคลำว่ามันใช้ยังไงไปค่อนข้างนาน (~2 ชั่วโมง สำหรับผมรวมเวลาอ่านคู่มือด้วย ถ้าเป็นคนอื่นสงสัยใบ้กิน) คือคนที่ Lab นี่แบบว่า ทำอะไรก็จะทำแล้วก็สอนต่อๆ กันมา ไม่ค่อยอ่านคู่มือ (คล้ายๆ คนไทยเลยหว่ะ) ถ้าอะไรมาใหม่มากๆ ทำไม่เหมือนเดิมจะเกิดอาการใบ้แดก ดังนั้นการเป็น Scientist ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องเป็น Computer scientist ไปด้วย

กลับมาเรื่อง Apple ในเรื่องนี้ผมว่าถ้าไม่ได้คำนึงกันถึง features ที่เรียกว่าหลายอันนอกจากไม่ใหม่แล้วยังลอกเค้าอีกบานหรือเอาของเก่ามารวมๆ กันแล้วเรียกว่าใหม่ (ขอกัดหน่อย) ผมว่า Apple ทำการตอบโจทย์เรื่องส่วนติดต่อผู้ใช้ได้ดีมาก คือ การออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้โดยคำนึงถึงความเป็น "มนุษย์" มากกว่า Geek มีความเข้าใจว่าควรจะเพิ่มอะไรเข้าไปหรือตัดอะไรออกเพื่อลดความสับสนในการใช้งาน ยกตัวอย่างเรื่อง Time machine ที่ถ้าเป็นซอฟต์แวร์สำหรับทำ volume backup ที่เห็นกันอยู่ทั่วไป หลายตัวยังใช้ CLI อยู่ ในขณะที่บางตัวจะเปิดการทำงานก็ยากแล้ว ถ้าไม่มีกำลังภายในที่จะทำหรืออยากศึกษาก็ไม่ต้องใช้กันละ แต่สำหรับ Time machine แค่ "just set it up and forget it" การตั้งค่าที่ดูๆ ก็ง่ายดีแถมเวลาเรียก restore ก็มี interface ที่เข้าใจง่าย คือ ปัจจุบันอยู่หน้าสุด แล้วอดีตก็อยู่ไกลออกไป มันดู make sense ดี หรือ Spaces ที่ดูแล้วไม่มีอะไรใหม่ แต่เมื่อเอามารวมกับการเคลื่อนไหวและการ drag n drop มันทำให้ดูน่าใช้ขึ้นจม (KDE + Kompose ก็ทำได้ ยืนยันว่ามัน drag n drop ได้ด้วย) ซึ่งผมไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน แต่พอคุณ iMenn กลับมาตอบ ผมก็ว่า เออ สำหรับบางคนเนี่ย การเคลื่อนไหวแบบ eye candy มันก็จำเป็นในการเข้าใจว่าตอนนี้เราอยู่ที่ไหนแฮะ


Time machine browser จาก Apple

ผมเคยคุยกับเพื่อนที่ทำปริญญาเอกทางด้าน computing เขาก็ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเขียนโปรแกรมก็คือการทำให้มันทำงานได้ถูกต้อง bug น้อยที่สุด รวมทั้งต้อง optimise ให้มันทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุดด้วย ผมถามเรื่อง UI แล้วเขาก็บอกว่า เรื่อง UI นั้นเรียนแค่ไม่กี่ชั่วโมงแล้วใครๆ ก็ออกแบบ UI ได้ โอเคผมเห็นด้วยในส่วนของ backend แต่ผมก็เห็นว่าการออกแบบ UI นั้นไม่ได้มีความสำคัญยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลยถ้าหากว่าต้องการทำโปรแกรมขายน่ะ ถึงแม้ว่าคุณจะเขียนโปรแกรมที่ทำงานได้ถูกต้องมากที่สุด เร็วที่สุด แต่ถ้าอินเทอร์เฟสมันดูงี่เง่า ก็แทบจะไม่มีประโยชน์ เพราะคน(ธรรมดา)ไม่รู้ว่าจะใช้งานมันอย่างไร (ประสบการณ์ตรงในเรื่องการใช้งานโปรแกรมสำหรับการตรวจโรคอันนึงที่ไม่ใช่ HospitalOS กับ HOSxP มันมีอินเทอร์เฟสดูยุ่งมากในการใช้งาน หมอส่วนมากรวมทั้งผมด้วยเลยตัดสินใจว่าเขียน OPD card กับใบสั่งยาแบบเก่าดีกว่า...)

ปล. นอกจากเรื่องของโปรแกรมแล้ว เรื่องการออกแบบหน้าเว็บก็สำคัญไม่แพ้กัน หลายๆ ครั้งที่ Boss ต้องการจะให้หลายๆ คนที่คุยด้วยไปดาวน์โหลดโปรแกรมบางตัว (ส่วนมากเป็น IM กับ freeware) แล้วก็หันมาถามผม ผมก็บอกหน้าหลักของเว็บไป Boss บอกว่า "เอาหน้าดาวน์โหลดมาเลย บอกหน้าหลักไปไม่มีใครหาเจอหรอก" ซึ่งผมก็สงสัยว่ามันเป็นเพราะว่า คนดูเว็บอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก หรือว่าเว็บมันออกแบบซ่อนเอาไว้แบบงี่เง่ากันแน่ หุหุ